วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ข้อมูลชาวไทยภูเขาในประเทศไทยสำหรับนักท่องเที่ยว


ชาวไทยภูเขาคือชนกลุ่มน้อยที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันตก ในเมืองไทยมีชาวไทยภูเขาหลายเผ่า เช่น อาข่า มูเซอ เย้า ปกากะญอ ลีซอ ม้ง ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่อพยพมาจากมณฑลยูนนานในประเทศจีน แล้วลงมาเรื่อยจนถึงประเทศไทย

ชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ ล้วนมีวัฒนธรรมอันงดงามแตกต่างกันออกไป ทั้งเรื่องการประกอบอาชีพ ศาสนา ประเพณีปฏิบัติ อาหารการกิน ภาษา งานหัตถกรรมต่างๆ รวมไปถึงการแต่งกาย บางเผ่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นจนเป็นที่สนใจของชาวต่างชาติ อย่างกะเหรี่ยงคอยาวที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน หรือชาวปะหล่องที่บ้านนอแล ดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่

ปัจจุบันมีแหล่งท่องเที่ยวที่รวบรวมเอาเรื่องราวต่างๆ ของชาวไทยภูเขามาจัดแสดงในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ที่ทันสมัย เพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้สำหรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เช่น ที่พิพิธภัณฑ์และศูนย์ศึกษาชาวเขา จังหวัดเชียงราย

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ การก้าวเข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ อย่างใกล้ชิดนั้น ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะมีหลายหมู่บ้านที่เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยว เช่น บ้านห้วยฮี้ อำเภอเมืองฯ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ของชาวปกากะญอ ซึ่งจัดระบบท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมได้อย่างลงตัว บ้านในสอย อำเภอเมืองฯ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวปะด่อง หรือกะเหรี่ยงคอยาว บ้านหัวแม่คำ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เป็นถิ่นอาศัยของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง อาข่า มูเซอ และลีซอ ฯลฯ 




 ข้อมูลทางสถิติ ชาวไทยภูเขา (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร)
ในประเทศไทย ประชากรชาวไทยภูเขา อาศัยอยู่ในพื้นที่ 20 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน กาญจนบุรี ลำพูน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พะเยา ลำปาง แพร่ ราชบุรี กำแพงเพชร เพชรบุรี อุทัยธานี ประจวบคีรีขันธ์ 

ในปีพ.ศ.2538 มีประชากรชาวไทยภูเขา จำนวน 853,274 คน (กรมประชาสงเคราะห์ : 2538) 

ในปีพ.ศ.2545 มีประชากรชาวไทยภูเขาเพิ่มมากขึ้นเป็น 1,203,149 คน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง จำนวน 438,131 คน คิดเป็นร้อยละ 36.41 รองลงมาเป็นชาวเขาเผ่าแม้ว จำนวน 153,955 คน คิดเป็น ร้อยละ 12.79 ชาวเขาเผ่ามูเซอ จำนวน 102,876 คน คิดเป็นร้อยละ 8.55 ชาวเขาเผ่าอีก้อ จำนวน 68,653 คน คิดเป็นร้อยละ 5.70 ชาวเขาเผ่าเย้า จำนวน 45,571 คน คิดเป็นร้อยละ 3.78 และที่เหลือคือ ชาวเขาเผ่าลีซอ ลั้วะ ถิ่น ขมุ มลาบรี ปะหล่อง ตองซู ไทยลื้อ จีนฮ่อ ไทยใหญ่ ซึ่งมีจำนวนประชากรเพียงเล็กน้อยไม่ถึงร้อยละ 4 ของประชากรชาวไทยภูเขาทั้งหมด (กรมประชาสงเคราะห์ : 2545) และในขณะที่มีอัตราการเพิ่มของประชากรเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น 

ชาวไทยภูเขายังประสบปัญหาต่างๆ อีกมากมาย เช่น ปัญหาความยากจน ในปี พ.ศ.2543 พบว่า ชาวไทยภูเขา มีรายได้เฉลี่ยเพียง 59,184.93 บาท/ครัวเรือน/ปี และชาวเขาเผ่าที่ยากจนที่สุดได้แก่ เผ่าไทยลื้อ มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อปีเพียง 19,970 บาท รองลงมาคือ อาข่า และอีก้อ เฉลี่ย/ครัวเรือน/ปี เพียง 37,362.13 บาท ชาวเขาเผ่าปะหล่องมีรายได้เฉลี่ย/ครัวเรือน/ปี 43,908 บาท ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงมีรายได้เฉลี่ย/ครัวเรือน/ปี 43,526.78 บาท ชาวเขาเผ่าไทยใหญ่มีรายได้เฉลี่ย/ครัวเรือนต่อปี 44,990.80 บาท ชาวเขาเผ่าละว้ามีรายได้เฉลี่ย/ครัวเรือน/ปี 45,882.97 บาท และมีชาวเขาเผ่าเย้า จีนฮ่อ ม้ง มูเซอ ลีซอ และคนเมือง ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อปี สูงกว่า 50,000 บาทขึ้นไป 

โครงสร้างของประชากรชาวไทยภูเขาประชากรชาวไทยภูเขาที่มีอายุ 20 ปีลงมา มีจำนวนร้อยละ 46.33 และชาวไทยภูเขาที่มีอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป มีจำนวนร้อยละ 53.67 จากสภาพปัญหาความยากจนของเกษตรกรชาวไทยภูเขาและในขณะเดียวกัน ก็ยังมีปัญหาในเรื่องการศึกษาจากการศึกษาของกองพัฒนาเกษตรที่สูง พบว่า ชาวไทยภูเขาที่อยู่ในวัยศึกษา คือ อายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป มากกว่าครึ่งคือ ร้อยละ 65.40 ได้รับการศึกษาและไม่ได้รับการศึกษาร้อยละ 34.60 (กองพัฒนาเกษตรที่สูง : 2543) แต่ชาวเขาที่อยู่ในวัยทำงานส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษาและส่งผลให้เกิดปัญหา ด้านสุขอนามัย มีรายงานผู้เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ของกลุ่มหมู่บ้านต่างๆ สูงถึงร้อยละ 35.88 และปัญหาด้านยาเสพติด ซึ่งส่งผลกระทบทั้งด้านสุขอนามัยของคนในชุมชนและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของ ประเทศ พบว่ามีร้อยละของกลุ่มหมู่บ้านที่มีคนค้ายาเสพติดร้อยละ 43.97 และร้อยละของกลุ่ม หมู่บ้านที่มีผู้ติดยา ร้อยละ 72.18 มีผู้ติดยาเสพติดต่อกลุ่มหมู่บ้าน เฉลี่ย 17.04 คน และยังมีร้อยละของกลุ่มหมู่บ้านที่ยังมีการปลูกฝิ่นร้อยละ 6.62 (กองพัฒนาเกษตรที่สูง : 2543)

ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร 

ไม่มีความคิดเห็น: