วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2552

จังหวัดนครพนม

นครพนม เมืองนครแห่งอีสาน ดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขงแถบนี้ เดิมทีเป็นที่ตั้งของอาณาจักรศรีโคตรบูร ตัวเมืองตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของลำน้ำโขง(ฝั่งลาว) บริเวณทางใต้ปากเซบั้งไฟ ตรงข้ามกับพระธาตุพนมในปัจจุบัน ตามประวัติเล่ากันว่าเมื่อพญานันทเสนผู้ครองศรีโคตรบูรสวรรคต เสนาอำมาตย์และประชาชนต่างก็เห็นว่าบ้านเมืองเกิดเภทภัยหลายครั้ง ควรที่จะย้ายไปสร้างเมืองใหม่อยู่ตรงข้ามกัน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีป่าไม้รวกขึ้นอยู่เป็นดงจึงได้เรียกชื่อเมืองใหม่นี้ว่า "มรุกขนคร" หมายถึงเมืองที่อยู่ในดงไม้รวก มรุกขนครในสมัยพญาสุมิตรธรรมเมื่อ พ.ศ. 500 นั้นรุ่งเรืองมาก มีเมืองขึ้นมากมายและมีการบูรณะพระธาตุพนมขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย โดยการก่อพระลานอูบมุงชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 แล้วสร้างกำแแพงล้อมรอบ มีงานสมโภชใหญ่โต หลังจากพญา สุมิตรธรรมแล้วก็มีผู้ครองนครต่อมาอีก 2 พระองค์ แต่ก็เกิดมีเหตุอาเพศแก่อาณาจักรศรีโคตรบูรจนกลายเป็นเมืองร้าง กระทั่งถึง พ.ศ. 1800 เจ้าศรีโคตรบูรได้สร้างเมืองมรุกขนครขึ้นใหม่ใต้เมืองท่าแขก บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ในพ.ศ. 2057 ผู้ครองเมืองมรุกขนครคือพระเจ้านครหลวงพิชิตทศพิศ ราชธานีศรีโคตรบูรหลวง ได้เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่กลายเป็น "เมืองศรีโคตรบูร" ตรงตามชื่ออาณาจักรดั้งเดิม ในยุคสมัยนี้ยังได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมอีกด้วย ต่อมา พ.ศ. 2280 พระธรรมราชา เจ้าเมืองศรีโคตรบูรองค์สุดท้ายได้ย้ายเมืองมาตั้งบนฝั่งขวา (ฝั่งไทย) เยื้องเมืองเก่าขึ้นไปทางเหนือ แล้วให้ชื่อว่า "เมืองนคร" ซึ่งก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะมีการโยกย้ายอีกหลายครั้ง ดังเช่น พ.ศ.2321 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ได้มีการย้ายเมืองอีกครั้งไปตั้งที่ บ้านหนองจันทร์ ห่างขึ้นไปทางทิศเหนือ 52 กิโลเมตร จนถึงสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ. 2333 เมื่อผู้ครองเมืองนครถึงแก่พิราลัย เมืองนครก็ได้ขอขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร โดยรัชกาลที่ 1 พระราชทานนามให้ใหม่ว่า " นครพนม" ชื่อนครพนมนั้นมีข้อสันนิษฐานว่าเคยเป็นเมืองลูกหลวงมาก่อนและมีความสำคัญ ทางประวัติศาสตร์จึงได้ใช้คำว่า " นคร" ส่วนคำว่า "พนม" ก็มาจากพระธาตุพนมปูชนียสถานที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน บ้างก็ว่ามรุกขนครเดิมที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงตั้งอยู่ในบริเวณที่มี ภูเขาสลับซับซ้อนจึงนำคำว่า "พนม" ซึ่งแปลว่าภูเขามาใช้ ส่วนคำว่า "นคร" ก็เป็นการดำรงชื่อเมืองไว้คือเมืองมรุกขนคร นครพนมจึงหมายถึง " เมืองแห่งภูเขา" นั่นเอง

จังหวัดนครพนมมีพื้นที่ประมาณ 5,512.668 ตารางกิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 740 กิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองนครพนม ธาตุพนม นาแก ท่าอุเทน เรณูนคร บ้านแพง ปลาปาก ศรีสงคราม นาหว้า โพนสวรรค์ นาทม และกิ่งอำเภอวังยาง

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอดงหลวง กิ่งอำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับแขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดน
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอกุสุมาลย์ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร

การเดินทาง
รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน ถึงสระบุรี บริเวณกิโลเมตรที่ 107 แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ ผ่านจังหวัดนครราชสีมา ถึงอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 23 ผ่านจังหวัดมหาสารคาม ทางหลวงหมายเลข 213 แล้วแยกขวาเข้าสู่จังหวัดกาฬสินธุ์และผ่านจังหวัดสกลนคร ตรงเข้าสู่จังหวัดนครพนม ตามทางหลวงหมายเลข 22 รวมระยะทางประมาณ 740 กิโลเมตร

รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด เปิดบริการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ-นครพนม มีทั้งรถโดยสารธรรมดา และรถโดยสารปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ทุกวัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2936 2852 - 66 และที่จังหวัดนครพนม โทร. 0 4251 1043 สำหรับบริษัทเอกชนติดต่อ บริษัท แสงประทีปเดินรถ จำกัด โทร. 0 4252 0411 บริษัท ชัยสิทธิ์ จำกัด โทร. 0 4252 0651 และบริษัทเชิดชัยทัวร์ จำกัด โทร. 0 4251 2098 www.transport.co.th

เครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดบริการเที่ยวบินไปจังหวัดนครพนม สอบถามตารางการบินได้ที่ โทร. 1566, 0 2280 0060, 0 2628 2000 , 0 4251 2494 www.thaiairways.com และบริษัท พี บี แอร์ จำกัด 0 2261 0220-5 , 0 4258 7207 www.pbair.com

ระยะทางจากตัวเมืองไปยังอำเภอและกิ่งอำเภอต่างๆ
อำเภอท่าอุเทน 26 กิโลเมตร
อำเภอปลาปาก 44 กิโลเมตร
อำเภอโพนสวรรค์ 45 กิโลเมตร
อำเภอเรณูนคร 51 กิโลเมตร
อำเภอธาตุพนม 52 กิโลเมตร
อำเภอศรีสงคราม 67 กิโลเมตร
อำเภอนาแก 78 กิโลเมตร
อำเภอบ้านแพง 93 กิโลเมตร
อำเภอนาหว้า 93 กิโลเมตร
อำเภอนาทม 130 กิโลเมตร
กิ่งอำเภอวังยาง 80 กิโลเมตร

ระยะทางจากจังหวัดนครพนมไปยังจังหวัดใกล้เคียง มีดังนี้
จังหวัดสกลนคร 93 กิโลเมตร
จังหวัดมุกดาหาร 104 กิโลเมตร
จังหวัดอุบลราชธานี 271 กิโลเมตร
จังหวัดขอนแก่น 298 กิโลเมตร
จังหวัดหนองคาย 303 กิโลเมตร

การเดินทางในตัวเมืองยังไม่มีรถโดยสารหรือรถสองแถวประจำทางมีเพียงรถสกา ยแล็ปเท่านั้น ราคาแล้วแต่จะตกลงกัน ส่วนใหญ่จะเริ่มตั้งแต่ 5 บาทไปจนถึง 20 บาท

ททท.สำนักงานนครพนม (นครพนม สกลนคร มุกดาหาร) อ.เมือง นครพนม โทร. 0 4251 3490-1
ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครพนม โทร. 0 4251 1730, 0 4252 0797
ท่าอากาศยานนครพนม โทร. 0 4251 3264
บริษัทการบินไทย จำกัด มหาชน โทร. 0 4251 2494, 0 4251 3014
สำนักงานจังหวัดนครพนม โทร. 0 4251 1287, 0 4251 1574
สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง โทร. 0 4251 1266, 0 4251 5680,0 4251 2469

ไม่มีความคิดเห็น: