วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2552

จังหวัดจันทบุรี

เมืองจันท์เป็น เมืองที่อุดมสมบูรณ์ ดินฟ้าอากาศเอื้ออำนวยต่อการปลูกผลไม้หลายชนิด โดยเฉพาะ ทุเรียน เงาะ มังคุด และพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ เช่น พริกไทย ยางพารา เป็นศูนย์กลางธุรกิจด้านอัญมณี และมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมายไม่ว่าจะเป็นภูเขา ป่าไม้ น้ำตก ชายทะเล และโบราณสถาน โบราณวัตถุต่างๆ จันทบุรีเป็นเมืองเก่าแก่ เคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีการสำรวจแหล่งโบราณคดีหลายแห่งในจันทบุรี พบเครื่องมือเครื่องใช้ยุคหินขัด (อายุประมาณ 2,000 ปี) ในเขตอำเภอมะขาม อำเภอท่าใหม่ และที่ราบเชิงเขาที่บ้านคลองบอน อำเภอโป่งน้ำร้อน

เริ่มมีการตั้งเมือง ครั้งแรกที่บริเวณหน้าเขาสระบาป ราวพุทธศตวรรษที่ 18 "ชาวชอง" (ชนเผ่าในตระกูลมอญ-เขมร) เป็นชนพื้นเมืองกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในป่าตะวันออก บริเวณจันทบุรี ตราด ระยอง โดยเฉพาะเขตป่ารอยต่อจันทบุรี-ตราด ซึ่งเป็นแหล่งของป่า และสมุนไพรที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งรง ครั่ง ขี้ผึ้ง กระวาน ไม้กฤษณา หวาย จันท์ขาว อบเชยป่า ขมิ้นหอม น้ำมันยาง เร่ว ในสมัยก่อนชาวชองดำรงชีพด้วยการเก็บของป่าขาย ปัจจุบันพื้นที่ป่าลดน้อยลง เพราะถูกหักร้าง เพื่อทำสวน ทำไร่ ถูกจับจองโดยคนไทยและคนจีน การเก็บของป่ากลายเป็นสิ่งผิดกฏหมาย นายพรานไพรต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปเป็นแรงงานในเมือง หรือบางส่วนยังคงทำสวนทำนากันอยู่ (ปัจจุบันชาวชองส่วนใหญ่จะอยู่ที่บ้านคลองพลู กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ) พ.ศ. 2200 ได้ย้ายมาสร้างเมืองใหม่ที่บ้านลุ่มซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ จันทบุรี และหลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อครั้งยังเป็นพระยาวชิรปราการ ได้นำกำลังพลประมาณ 500 คน ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกทางทิศตะวันออกและยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นเวลา 5 เดือน เพื่อเป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหารและรี้พล จากนั้นจึงนำกำลังพลทั้งไทย-จีน จำนวน 5,000 คน กลับไปกอบกู้กรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2310 เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นความภาคภูมิใจของชาวจันทบุรี ซึ่งเราสามารถเห็นได้จากการที่มีโบราณสถานและอนุสรณ์สถานหลายแห่งที่มีความ เกี่ยวข้องหรือจัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระองค์ในครั้งนั้น

ต่อมาในสมัยสมเด็จพระ นั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ย้ายเมืองไปตั้งที่บ้านเนินวงซึ่งอยู่ในที่สูงเพื่อ เป็นที่มั่นในการป้องกันการถูกรุกรานของญวณ จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมืองจันทบุรีได้ย้าย กลับมาตั้งที่บ้านลุ่มตามเดิมเนื่องจากบ้านเนินวงอยู่ไกลจากแหล่งน้ำ ในปี พ.ศ. 2436 เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และฝรั่งเศสได้เข้ามายึดครองเมืองจันทบุรีไว้นานถึง 11 ปี จนไทยต้องยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศสเพื่อแลกเมืองจันทบุรี กลับคืนมา

ในปี พ.ศ. 2476 ได้มีการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินขึ้นใหม่ เมืองจันทบุรีจึงมีฐานะเป็นจังหวัดมาจนถึงปัจจุบัน จันทบุรีมีพื้นที่ประมาณ 6,338 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอกับ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอท่าใหม่ อำเภอขลุง อำเภอแหลมสิงห์ อำเภอโป่งน้ำร้อน อำเภอมะขาม อำเภอสอยดาว อำเภอนายายอาม อำเภอแก่งหางแมว และกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดสระแก้ว
ทิศใต้ ติดต่อกับอ่าวไทย
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดตราดและประเทศกัมพูชา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง

การเดินทาง
ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 5เส้นทาง ได้แก่
1. เส้นทางที่ 1 ทางหลวงหมายเลข 3 เป็นเส้นทางสายเก่า เริ่มต้นที่บางนา-กรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดชลบุรี-บางแสน-ศรีราชา-พัทยา-สัตหีบ-บ้านฉาง-ระยอง-จันทบุรี ระยะทาง 330 กิโลเมตร
2. เส้นทางที่ 2 ทางหลวงหมายเลข 36 เป็นเส้นทางสายหลักในปัจจุบัน เริ่มต้นที่ กิโลเมตรที่ 140 ถนนสุขุมวิท อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เลี้ยวซ้ายตรงสามแยกกระทิงลาย ผ่านสนามแข่งรถพีระเซอร์กิต และสิ้นสุดที่ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ระยะทาง 60 กิโลเมตร จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 3 ระยะทาง 108 กิโลเมตร จะถึงจังหวัดจันทบุรี รวมระยะทาง 308 กิโลเมตร
3. เส้นทางที่ 3 ทางหลวงหมายเลข 344 (บ้านบึง-แกลง) เป็นเส้นทางสายหลักอีกหนึ่งสาย ซึ่งช่วยลดระยะทางได้ถึง 70 กิโลเมตร เริ่มต้นกิโลเมตรที่ 98 ถนนสุขุมวิท อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ผ่านอำเภอบ้านบึง อำเภอวังจันทร์ และอำเภอแกลง จังหวัดระยอง ระยะทาง 110 กิโลเมตร จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 3 ระยะทาง 58 กิโลเมตร จะถึงจังหวัดจันทบุรี รวมระยะทาง 266 กิโลเมตร
4. เส้นทางเชื่อมระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคตะวันออก เริ่มต้นกิโลเมตรที่ 200 ทางหลวงหมายเลข 33 อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เลี้ยวขวากิโลเมตรที่ 230 จังหวัดสระแก้ว เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 317 ระยะทาง 189 กิโลเมตร ผ่าน อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอสอยดาว อำเภอโป่งน้ำร้อน อำเภอมะขาม จนถึงจังหวัดจันทบุรี รวมระยะทางจากอำเภอกบินทร์บุรี -จังหวัดจันทบุรี 219 กิโลเมตร
5. เส้นทางสายมอเตอร์เวย์ เริ่มต้นที่ถนนศรีนครินทร์ กรุงเทพฯ สิ้นสุดที่เมือง พัทยา จังหวัดชลบุรี ระยะทาง 90 กิโลเมตร จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 36 ระยะทาง 50 กิโลเมตร และทางหลวงหมายเลข 3 อีก 108 กิโลเมตร รวมระยะทางกรุงเทพฯ - จันทบุรี 248 กิโลเมตร

รถโดยสารประจำทาง
- รถโดยสารปรับอากาศ บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออก (เอกมัย) ทุกวัน ตั้งแต่ 04.00 - 24.00 น. ออกทุกชั่วโมง สอบถามรายละเอียด โทร. 0 2391 8097, 0 2391 2504 www.transport.co.th บริษัทเดินรถเอกชนวิ่งบริการ ได้แก่ เชิดชัยทัวร์ โทร. 0 2391 4146, 0 3935 0357 พรนิภาทัวร์ โทร. 0 2391 5179, 0 3931 1278 ศุภรัตน์ทัวร์ โทร. 0 2391 2331, 0 3931 2011
- รถโดยสารธรรมดา ออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออก (เอกมัย) เช่นกัน แต่ไม่มีรอบแน่นอน สอบถามรายละเอียด โทร. 0 2391 2504 นอกจากนี้ยังมีรถโดยสารจากจันทบุรีไปยังจังหวัดอื่นๆ ได้แก่ นครราชสีมา ตราด ระยอง สระแก้ว สระบุรี บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี ตาก รายละเอียดติดต่อสถานีขนส่งจังหวัดจันทบุรี โทร. 0 3931 1299

ระยะทางจากตัวเมืองจันทบุรีไปยังจังหวัดต่าง ๆ
พัทยา 175 กิโลเมตร
ระยอง 110 กิโลเมตร
ตราด 70 กิโลเมตร

แหล่งข้อมูล : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น: