วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2552

จังหวัดลพบุรี

ลพบุรีเป็นเมือง แห่งความหลากหลายและต่อเนื่องทางวัฒนธรรมยาวนานกว่า 3,000 ปี ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน ค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ตั้งแต่สมัยทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) ลพบุรีอยู่ใต้อำนาจมอญและขอมจนกระทั่งในตอนต้นของพุทธศตวรรษที่ 19 คนไทยจึงเริ่มมีอำนาจขึ้นในดินแดนแถบนี้ ในรัชสมัยของพระเจ้าอู่ทองปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ลพบุรีมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง กล่าวคือพระเจ้าอู่ทองได้โปรดให้พระราเมศวร ราชโอรสองค์ใหญ่เสด็จมาครองเมืองลพบุรี เมื่อ พ.ศ. 1893 พระราเมศวรโปรดให้สร้างป้อม ขุดคู และสร้างกำแพงเมืองอย่างมั่นคง เมื่อพระเจ้าอู่ทองสวรรคตใน พ.ศ. 1912 พระราเมศวรต้องถวายราชบัลลังก์ให้แก่พระปิตุลาของพระองค์ ซึ่งได้ขึ้นครองราชย์พระนามว่า พระบรมราชาธิราชที่ 1 ส่วนพระราเมศวรครองเมืองลพบุรีสืบต่อไป จนถึง พ.ศ. 1931 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 สวรรคต พระราเมศวรจึงเสด็จขึ้นครองราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งที่สอง

หลังจากนั้นมาเมืองลพบุรีได้ลดความสำคัญลงไป จนกระทั่งมาถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) ลพบุรีได้รับการทำนุบำรุงครั้งใหญ่ สืบเนื่องมาจากการคุกคามของชนชาติฮอลันดาที่ติดต่อค้าขายกับไทยทำให้สมเด็จ พระนารายณ์ทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยานั้นไม่สู้ปลอดภัยจากการปิดล้อมระดมยิง ของข้าศึกหากเกิดสงคราม จึงได้สร้างเมืองลพบุรีเป็นราชธานีที่สองขึ้น เพราะลพบุรีมีลักษณะทางยุทธศาสตร์เหมาะสม ในการสร้างลพบุรีขึ้นใหม่ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงได้รับความช่วยเหลือจากช่างชาวฝรั่งเศสและ อิตาเลียน และได้สร้างพระราชวังและป้อมปราการเป็นแนวป้องกันอย่างแข็งแรง สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ประทับอยู่ที่ลพบุรีเป็นส่วนใหญ่ และโปรดให้ทูตและชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าพระองค์ที่เมืองนี้หลายครั้ง สิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ แล้ว ลพบุรีก็หมดความสำคัญลง สมเด็จพระเพทราชาได้ทรงย้ายหน่วยราชการทั้งหมดกลับกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลต่อๆ มา ก็ไม่ได้เสด็จมาประทับที่เมืองนี้อีก จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ใน พ.ศ. 2406 โปรดฯ ให้บูรณะเมืองลพบุรี ซ่อมกำแพง ป้อม และประตูพระราชวังที่ชำรุดทรุดโทรม และสร้างพระที่นั่งพิมานมงกุฎขึ้นในพระราชวังเป็นที่ประทับ และพระราชทานนามว่า "พระนารายณ์ราชนิเวศน์" ลพบุรีจึงแปรสภาพเป็นเมืองสำคัญอีกวาระหนึ่ง

ภายหลังการเปลี่ยน แปลงการปกครอง ลพบุรีได้รับการทำนุบำรุงอีกครั้งหนึ่งในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งได้สร้างเมืองลพบุรีใหม่อันเป็นเมืองทหารอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของทาง รถไฟ มีอาณาเขตกว้างขวาง ส่วนเมืองเก่านั้นอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของทางรถไฟ เมืองลพบุรีจึงเป็นศูนย์กลางสำคัญทางยุทธศาสตร์เมืองหนึ่งในปัจจุบันนี้ ลพบุรีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 153 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด 6,586.67 ตารางกิโลเมตร

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดเพชรบูรณ์ และนครสวรรค์
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสระบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดนครราชสีมา และชัยภูมิ
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง และนครสวรรค์

การเดินทาง
รถยนต์
1. จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านจังหวัดสระบุรี อำเภอพระพุทธบาท เข้าสู่จังหวัดลพบุรี ระยะทาง 153 กิโลเมตร
2. จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ซึ่งแยกจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะมีทางแยกเข้าได้ 3 ทาง คือ
- เข้าทางอำเภอบางปะหัน ผ่านอำเภอนครหลวง เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3196 ผ่านอำเภอบ้านแพรก เข้าสู่ จังหวัดลพบุรี
- เข้าตรงทางแยกต่างระดับจังหวัดอ่างทอง ไปยังอำเภอท่าเรือ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3196 ผ่านอำเภอบ้านแพรก เข้าสู่จังหวัดลพบุรี ผ่านจังหวัดอ่างทอง สิงห์บุรี แล้วใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 311 (สายสิงห์บุรี-ลพบุรี) ผ่านอำเภอท่าวุ้ง เข้าสู่จังหวัดลพบุรี

รถโดยสาร มีรถโดยสารประจำทางออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว รายละเอียดสอบถามได้ที่ โทร. 0 2936 2852-66 หรือ www.traco.motc.go.th

รถไฟ การเดินทางโดยรถไฟ สามารถเดินทางโดยรถไฟสายเหนือ ออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงทุกวัน วันละหลายเที่ยว รายละเอียดติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่หน่วยบริการเดินทางการรถไฟแห่งประเทศ ไทย โทร. 0 2223 7010, 0 2223 7020, 1690 หรือ www.srt.motc.go.th

ระยะทางจากอำเภอเมืองลพบุรีไปยังอำเภอต่างๆ
อำเภอท่าวุ้ง ระยะทาง 15 กิโลเมตร
อำเภอบ้านหมี่ ระยะทาง 32 กิโลเมตร
อำเภอโคกสำโรง ระยะทาง 35 กิโลเมตร
อำเภอพัฒนานิคม ระยะทาง 51 กิโลเมตร
อำเภอหนองม่วง ระยะทาง 54 กิโลเมตร
อำเภอสระโบสถ์ ระยะทาง 65 กิโลเมตร
อำเภอโคกเจริญ ระยะทาง 77 กิโลเมตร
อำเภอท่าหลวง ระยะทาง 83 กิโลเมตร
อำเภอชัยบาดาล ระยะทาง 97 กิโลเมตร
อำเภอลำสนธิ ระยะทาง 120 กิโลเมตร

ระยะทางจากจังหวัดลพบุรีไปยังจังหวัดใกล้เคียง
สิงห์บุรี ระยะทาง 33 กิโลเมตร
สระบุรี ระยะทาง 46 กิโลเมตร
อ่างทอง ระยะทาง 67 กิโลเมตร
พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 98 กิโลเมตร

แหล่งข้อมูล : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น: