วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2552

จังหวัดอ่างทอง

อ่างทอง จังหวัดซึ่งอุดมไปด้วยงานหัตถกรรมพื้นถิ่นไม่ว่าจะเป็นงานปั้นตุ๊กตาชาววัง การทำกลอง การทำอิฐดินเผา หรือการผลิตเครื่องจักสาน ทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดเพลงพื้นบ้านลิเก เป็นจังหวัดบ้านเกิดของนายดอกนายทองแก้ววีรชนคนกล้าในศึกบางระจัน นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยวัดที่มีความสะอาดสวยงามและมีจุดเด่นที่น่าสนใจมาก มายกว่า 200 วัด อันเป็นสถานที่ที่น่าศึกษาประวัติศาสตร์และเรื่องราวความเป็นมาในอดีตของ ชาติไทย

อ่างทองเดิมชื่อ เมืองวิเศษชัยชาญ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย บนพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของกรุงศรีอยุธยาในการสู้รบกับกองทัพพม่าดังปรากฏ ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายตอนโดยเฉพาะในช่วงก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ. 2310 พม่าได้ใช้แขวงเมืองวิเศษชัยชาญเป็นที่ตั้งค่ายเพื่อตีกรุงศรีอยุธยาและทำ ให้เกิดการสู้รบครั้งสำคัญที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยนั่นคือ ศึกบางระจัน ปลายสมัยกรุงธนบุรีได้ย้ายที่ตั้งเมืองมาอยู่บริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้า พระยาที่บ้านบางแก้ว เรียกชื่อใหม่ว่า "อ่างทอง" เนื่องจากเป็นที่ลุ่มและอู่ข้าวอู่น้ำอันเป็นเสมือนขุมทรัพย์ที่มีค่า

จังหวัดอ่างทองเป็น จังหวัดเล็กๆ ตั้งอยู่บริเวณภาคกลางตอนล่าง มีเนื้อที่ 968 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่านสองสาย คือ แม่น้ำน้อย และแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดอ่างทองแบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ คือ อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ อำเภอแสวงหา อำเภอป่าโมก อำเภอโพธิ์ทอง อำเภอไชโย และอำเภอสามโก้

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดสิงห์บุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดลพบุรีและพระนครศรีอยุธยา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดสุพรรณบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

การเดินทาง
รถยนต์ จากกรุงเทพฯสามารถเดินทางได้หลายเส้นทางคือ
เส้นทางที่ 1 ใช้เส้นทางสายพหลโยธิน ทางหลวงหมายเลข 32 จากกรุงเทพฯ แยกเข้าเส้นทางสายเอเชีย ผ่านอำเภอบางปะอิน-พระนครศรีอยุธยา-อำเภอบางปะหัน-อ่างทอง รวมระยะทาง 105 กิโลเมตร
เส้นทางที่ 2 ใช้เส้นทางตัดใหม่ ข้ามสะพานพระปิ่นเกล้า - ตลิ่งชัน เข้าเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 340 ผ่านจังหวัดนนทบุรี-ปทุมธานี-พระนครศรีอยุธยา-สุพรรณบุรี-อ่างทอง รวมระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร
เส้นทางที่ 3 ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-ปทุมธานี ผ่านปากเกร็ด เข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3111 ผ่านอำเภอบางไทร-อำเภอเสนา-พระนครศรีอยุธยา จากนั้นใช้เส้นทางหมายเลข 3263 และต่อเข้าทางหลวงหมายเลข 309 เข้าอำเภอป่าโมก-อ่างทอง รวมระยะทาง 140 กิโลเมตร

รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการรถโดยสารประจำทางระหว่างกรุงเทพฯ-อ่างทอง ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ ทุกวัน สามารถขึ้นรถได้ที่สถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 0 2537 8055, 0 2936 2852-66, 0 2936 3603 เว็บไซต์ www.transport.co.th

ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอต่าง ๆ
โพธิ์ทอง 11 กิโลเมตร
ป่าโมก 12 กิโลเมตร
วิเศษชัยชาญ 13 กิโลเมตร
ไชโย 15 กิโลเมตร
แสวงหา 25 กิโลเมตร
สามโก้ 27 กิโลเมตร

ระยะทางจากจังหวัดอ่างทองไปยังจังหวัดใกล้เคียง
พระนครศรีอยุธยา 31 กิโลเมตร
สิงห์บุรี 40 กิโลเมตร
สุพรรณบุรี 44 กิโลเมตร
ลพบุรี 67 กิโลเมตร

แหล่งข้อมูล : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น: